ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย และความเชี่ยวชาญในธุรกิจท่าเทียบเรือ บวกกับการที่บริษัทฯ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกับ 2 สายการเดินเรือชั้นนำระดับโลก ทำให้สหไทย เทอร์มินอลได้เตรียมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ด้วยการขยายบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ เพื่อรองรับการเติบโตของการลงทุนในโครงการ EEC ของรัฐบาล
คุณเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT กล่าวว่า “บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 4.50 บาท แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย (ซึ่งรวมถึง 6 ล้านหุ้นที่เสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ในราคาเดียวกัน) บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท และพาร์ 0.50 บาท และมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 460 ล้านหุ้นซึ่งรวมถึงหุ้นไอพีโอจำนวน 120 ล้านหุ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ จะระดมทุนได้ 540 ล้านบาทในการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ และวางแผนจะนำเงินที่ระดมทุนได้ในสัดส่วน 46 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการขยายธุรกิจ 29 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชำระคืนเงินกู้คืนหนี้ และ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินทุนหมุนเวียน เรามั่นใจว่าภายหลังการระดมทุน บริษัทฯ จะมีศักยภาพทางธุรกิจและการเงินมากยิ่งขึ้น และด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน การลงทุนในโครงการ EEC ของรัฐบาล การขยายตัวของการส่งออกและนำเข้า บริษัทฯ จะได้ประโยชน์โดยตรงจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีกลยุทธ์ที่จะขยายบริการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำและระบบซอฟท์แวร์เข้ามาใช้มากขึ้น”
ชมวิดีโอบทสัมภาษณ์คุณเสาวคุณ กับข้อได้เปรียบในการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 9 ปีก่อน บมจ. สหไทย เทอร์มินอล ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการท่าเรือแม่น้ำเอกชนชั้นนำของไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด เนื่องจากบริษัทฯให้บริการด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ที่ครบวงจรสำหรับทั้งเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (barge) และด้วยที่ตั้งที่ปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ บริการแบบครบวงจรของ ‘PORT’ ได้แก่
1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจร สำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (barge) รวมถึงให้บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และ ซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (container depot)
2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง
3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้า โดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติและปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม
4. ธุรกิจการให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการท่าเรือพาณิชย์ 2 แห่งคือ ท่าเรือสหไทย และ ท่าเรือบางกอก บาร์จ (BBT) ซึ่งเป็นบริษัทฯร่วมทุนกับสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น คือ Mitsui O.S.K. Lines (MOL) โดยในเดือนกรกฎาคมปี 2017 BBT ได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของไทยจากกรมศุลกากรทำให้สามารถดำเนินการสินค้าขาเข้าได้ นอกจากนี้ในปี 2016 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับ สายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายการเดินเรือรายใหญ่ของโลก ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด (BBS) เพื่อให้บริการบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง
คุณมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PORT กล่าวว่า “หุ้นไอพีโอของ PORT ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากบริษัทฯ มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่มีคู่แข่งน้อยรายในเขตกรุงเทพปริมณฑลและเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากเนื่องจากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีทีมผู้บริหาร และพนักงานที่มีความสามารถ และมีอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง ยิ่งกว่านั้น บริษัทฯ มีพันธมิตรร่วมทุนที่เป็นสายการเดินเรือระดับโลกถึง 2 บริษัท”
หุ้นไอพีโอจำนวน 120 ล้านหุ้นของ บมจ. สหไทย เทอร์มินอล คิดเป็น 26.09% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ สามารถจองซื้อได้ที่ บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย และ ผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายได้แก่ บริษัท หลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด บริษัท หลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด บมจ. หลักทรัพย์กรุงศรี และ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด ในวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2017 โดยหลังจากการเพิ่มทุน กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มรัตนศิริวิไล กลุ่มครุจิตร และผู้ถือหุ้นอื่น จะลดการถือหุ้นเหลือ 74 เปอร์เซ็นต์ และนักลงทุนทั่วไปจะถือหุ้นประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์
ชมวิดีโอ ข้อได้เปรียบของ BBT ท่าเรือแม่น้ำแห่งแรกที่ได้รับใบรับรอง ICD
บริษัทฯ มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดปี 2016 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 841 ล้านบาทในปี 2015 และรายได้รวม 830 ล้านบาทในปี 2014 โดยส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาทในปี 2016 เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 25 ล้านบาทในปี 2015 และจากกำไรสุทธิ 36 ล้านบาทในปี 2014 ส่วนในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 644 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 11 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้ 480 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลงเนื่องจาก บริษัท บางกอก บาร์จ เทอมินอล จำกัด (BBT) มีผลประกอบการขาดทุนจากการที่เพิ่งเริ่มดำเนินงานปลายปีก่อน และยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ภายหลังจากที่ BBT ได้รับใบอนุญาติ ICD แล้วนั้น ทำให้มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของ BBT จะปรับตัวดีขึ้นต่อไป
เกี่ยวกับสหไทย เทอร์มินอล
สหไทย เทอร์มินอล เป็นบริษัทเอกชนที่เริ่มเปิดดำเนินกิจการครั้งแรก เมื่อปี 2550 โดยบริษัทฯ มีพื้นที่ในการปฏิบัติการรวมมากกว่า 168,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ซ่อมบำรุงตู้สินค้า สำนักงานศุลกากรภายในท่าเรือ และมีเครื่องมือประจำท่าเรือเพื่อใช้ในการยกขนสินค้าอย่างครบวงจร พร้อมบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ และด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหไทย เทอร์มินอล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสะพานภูมิพลและถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทำให้ลูกค้าสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวมถึงบริการครบวงจรที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกรูปแบบ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดบริการของสหไทย ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ +66 (0) 2386 8000 หรือ e-mail: [email protected]
]]>